วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

วิธี OverClock

CPU AMD รุ่นใหม่ๆ นั้น ได้ทำการติดตั้ง Memory Controller ไว้ในซีพียูด้วย กลายเป็นลูกเล่นที่เราสามารถปรับค่าต่างๆ ในไบออสได้อย่างหลากหลายยิ่งขึ้น...เพียงแต่...หน้าตาเมนู รวมทั้งชื่อเรียกกลับใช้ไม่เหมือนกัน สร้างความงงงวยให้แก่พวกเรามากพอสมควร ^^” โดยเฉพาะ ผู้ที่ใช้ซีพียูตัวเดิมแต่เปลี่ยนเมนบอร์ดจาก DDR2 เป็น DDR3 หรือเปลี่ยนแรมที่ลากบัสได้สูงยิ่งขึ้น แต่ระบบกลับไม่เสถียรเอาซะงั้น ซึ่งความจริงแล้วมันมีหลายๆ ปัจจัยจนทำให้ผมรู้สึกว่า อยากแนะนำวิธี OC อย่างคร่าวๆ ให้แก่ผู้ที่กำลังสนใจการ OC 

ผมมิได้ตั้งใจเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนนะครับ เพราะผมเชื่อว่ามีสมาชิกที่เชี่ยวชาญการ OC อยู่มากมาย และยินดีให้คำปรึกษา เพียงแต่หน้าที่การงาน อาจทำให้ไม่สามารถแนะแนวทางได้อย่างเต็มที่ กระผมจึงขออนุญาตเป็นตัวแทน แนะแนวทางให้แก่ผู้ที่กำลังสนใจ OC แต่ยังไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนดี

อนึ่ง วิธีปรับของผมได้มาจากการได้คลุกคลี และการแนะนำข้อมูลจากเพื่อนๆ พี่ๆ และผู้มีความรู้ช่วยแนะนำให้ ดังนั้น วิธีการ หรือมุมมองของผมอาจจะมีผิดพลาดบ้าง ผมก็ยินดี และอยากให้เพื่อนๆ พี่ๆ ที่มีประสบการณ์ช่วยแนะนำข้อมูลเพื่อให้พวกเราได้มีแนวทาง OC ที่ถูกต้องยิ่งขึ้นนะครับ 

โดยเฉพาะ CONFIG ในไบออส ตัวผมเองมีข้อมูลอ้างอิงเฉพาะเมนบอร์ดอาซุส กับกิ๊กกาไบต์เท่านั้นนะครับ ซึ่งคอนฟิกในเมนบอร์ดแต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อก็จะมีจุดปรับพื้นฐานเหมือนๆ กัน จะแตกต่างกันที่ความละเอียด ฟังก์ชั่นที่หลากหลาย ความสามารถในการปรับไฟได้ละเอียดหลายจุดเท่านั้นครับ

CPU
หลังจากควักกระเป๋ามาดูงบ ส่วนใหญ่เพื่อนๆ พี่ๆ ก็มักจะมองออกแล้วว่าจะเล่น CPU รุ่นไหนดี ณ ปัจจุบันนี้ก็ต้องสายพันธุ์ AM3 เท่านั้น แต่ก็มีบางทีที่ยังชั่งใจอยู่ เนื่องจากกำลังทรัพย์สามารถเลือกซื้อได้หลายรุ่น ก็ต้องหาองค์ประกอบมาตัดสินใจ เช่น

ตระกูล Athlon X2 ณ ปัจจุบันนี้ มีให้เล่นอยู่ 3 รุ่นด้วยกัน คือ 
X2 240 เป็นซีพียูความเร็ว 2800Mhz ด้วยการใช้บัส 200 ร่วมกับตัวคูณ 14
X2 245 เป็นซีพียูความเร็ว 2900Mhz ด้วยการใช้บัส 200 ร่วมกับตัวคูณ 14.5
X2 250 เป็นซีพียูความเร็ว 3000Mhz ด้วยการใช้บัส 200 ร่วมกับตัวคูณ 15

ซีพียู Athlon X2 มีความโดดเด่นอยู่ที่ L2 ขนาด 1024Kbytes สองหัว รวมเป็น 2M มากกว่าพี่ใหญ่ในตระกูล Phenom II ที่มีเพียงหัวละ 512Kbyte ทำให้มันสามารถปั่นคะแนน และจัดการ หรือประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ได้รวดเร็วเอาเรื่องทีเดียวครับ ความลื่นไหลของระบบก็ทำได้ดี ไม่ได้โดนรุ่นพี่ Phenom ทิ้งงมากมายอะไร แล้วจะเลือกตัวไหนดีหล่ะ?

นอกจากปัจจัยบังคับเรื่องงบประมาณ ในความคิดของผม มองได้ 3 ประการครับ
1.ถ้าเป็นคนชอบบัส+HT+NB Frequence สูงๆ ไม่เน้น Mhz สูงๆ เจ้า 240 น่าเล่น ประหยัด และถูกที่สุดในตระกูล Athlon แท้ๆ
2.ถ้าเป็นคนชอบบัส+HT+NB Frequence สูงๆ แต่ก็อยากได้ Mhz ด้วย ก็ต้อง 245 แม้ว่าตัวคูณจะเพิ่มแค่ 0.5 แต่ก็ส่งผลดีไม่น้อยถ้าแรม หรือไฟเมนบอร์ดไม่สามารถดันบัสให้สูงจนได้ Mhz อย่างที่ต้องการ เช่น บัส 260 ถ้าเล่น X2 240(ตัวคูณ14) จะได้ 3,640Mhz แต่สำหรับ X2 245(ตัวคูณ14.5) จะได้ถึง 3,770Mhz เลยทีเดียว
3.ถ้าเป็นคนหลายใจ ^^ บางวันชอบเล่นบัส บางวันชอบ Mhz หรือต้องการแตะระดับ 4Ghz โดยไม่ต้องดันบัสให้เหนื่อย เพราะแค่บัส 267 คุณก็จะเร่งความเร็วซีพียูไปที่ 4,005Mhz ได้นิ่มๆ* จะเป็นอะไรไม่ได้นอกเสียจาก X2 250 (*หากปัจจัยอื่นๆ สามารถรองรับ ไม่ว่าจะเป็นระบบระบายความร้อน เมนบอร์ด และแรม)

ที่ผมยกตัวอย่าง ไม่ใช่ว่า 240 จะสู้ 250 ไม่ได้นะครับ แน่นอนกว่าย่อมมี 240 บางตัว OC ได้ไกลกว่า 250 แต่จะมีซักกี่ตัว? นี่แหละปัญหาครับ

ตระกูล Phenom II เบ่งพลังร้อนแรงด้วย L3 มีให้เลือกตั้งแต่
2 หัว ตอนนี้ก็มี Phenom II X2 545 กับ 550BE
3 หัว ตอนนี้ก็มี Phenom II X3 710 กับ 720BE
4 หัว ตอนนี้ก็มี Phenom II X4 810, 920, 940BE, 945 และ 955BE
(BE = Black Edition หรือไม่ล็อคตัวคูณนั่นเอง)

ซีพียูในตระกูล Phenom II ผมอยากจะเอ่ยแค่การนำมาใช้กับเมนบอร์ดที่ชิพเซ้าท์บริจ(SB) รหัส 710 และ 750 ที่ฟังก์ชั่น ACC = Advance Clock Calibration ที่สามารถทำให้ Phenom II X2 5XX สามารถเปิดจาก 2 เป็น 4 หัวได้ หรือเปิด L3 จาก 4M เป็น 6M ใน Phenom II X4 8XX มันไม่สามารถทำได้กับ CPU ทุกตัว หลายตัวเปิดแล้วไม่เสถียร เข้าวินโดว์ไม่ได้ จอฟ้า เรนเดอร์งานไม่ได้ หรือได้แต่งานออกมาไม่ดี หรือเปิดใช้งานได้ดี...แต่ก็มีน้อยยิ่ง หากต้องการซื้อมาเปิดหัว กรุณาทำใจไว้ด้วยนะครับ คุณกำลังอยู่ในความเสี่ยง วัดดวงล้วนๆ

Mainboard
เมนบอร์ดก็เป็นอุปกรณ์สำคัญมากชิ้นนึงเลยครับ โดยเฉพาะขา OC ซึ่งผู้ผลิตเมนบอร์ดก็มีหลายรุ่นหลากราคาให้เลือกนะครับ ถ้านับเฉพาะชิพเซ็ทในปัจจุบันนี้ เทพสุดก็ยังต้องยกให้ 790FX ไล่เรียงตามลำดับลงมาเป็น 790X, 790G ฯลฯ และล่าสุดกับ 785G ที่รองรับ AM3 เต็มตัว มีการ์ดจอออนบอร์ด HD4200 และเซ้าท์บริจ SB710 ซึ่งมีราคาไม่สูง แต่ประสิทธิภาพเกินตัว ซึ่งมีเมนบอร์ดที่น่าสนใจอยู่รุ่นนึง คือ ASUS M4A785TD V-EVO(ขอค่าโฆษณาด้วยครับ^^) ที่การันตีว่าสามารถรองรับบัสแรม DDR3 ได้เกินกว่า +1800(หากแรมวิ่งได้ และต้อง OC เอาเอง) ซึ่งเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายขา OC พอสมควร เนื่องจากเมนบอร์ดไฮเอนด์ระดับ 790FX น้อยรุ่นที่สามารถรองรับบัสแรมได้เกินกว่า +1600 ดังนั้น ตอนนี้มันจึงเป็นเมนบอร์ดที่เหมาะสำหรับขา OC งบน้อยยิ่งนัก

นอกจากนี้ก็ยังมีเมนบอร์อีกหลายรุ่นหลายยี่ห้อให้เลือกตามความพอใจ แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าเมนบอร์ดรุ่นนั้นแรงไม่แรง วิธีดูที่ง่ายที่สุดอย่างนึงก็คือ รีวิวครับ ไม่ว่าจะเป็นรีวิวเว๊ปบ้านเรา หรือเว๊ปนอก ถ้าลองม็อดว่ามันส์สะใจ OC เกินตัวก็มั่นใจได้เลยครับ นอกจากนี้ก็ยังมีเมนบอร์ดราคาประหยัดแต่แรงเกินตัวอย่าง Asrock Biostar บางรุ่นซึ่งคงต้องติดตามในห้อง AMD นี่แหละครับ เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญอีกแห่งนึง

อ่า..หลายคนอาจจะคิดว่าทำไมผมไม่ค่อยพูดถึงเมนบอร์ด DDR2 บ้างเลย เพราะ ซีพียู AM3 ถูกผลิตเพื่อออกมารันร่วมกับแรม DDR3 หน่ะครับ แม้เมนบอร์ด DDR2 จะออกไบออสให้สามารถใส่ซีพียู AM3 ได้ แต่ถึงที่สุด มันก็ต้องตามยุคสมัยครับ แถมเดี๋ยวนี้ DDR3 ก็ราคาใกล้เคียงกับ DDR2 แล้ว และเมนบอร์ดดีๆ ก็มีให้เห็นกันอยู่แล้วหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็นอาซุส(M4A79) กิ๊กกาไบต์(790GP 785G) ฯลฯ ที่สำคัญ เวลาเราเล่นบัสสูง เราไม่สามารถรีดประสิทธิภาพระบบได้เต็ม 100% อย่างที่มันควรจะเป็น ซึ่งในการปรับเซ็ท ผมก็จะเอ่ยถึง DDR2 เช่นกันครับ

RAM
ที่สุดของที่สุดแห่งความปวดหัวสำหรับคนเล่น AMD ในความคิดของผมก็คือเจ้า “แรม” นี่แหละครับ ไม่รู้เป็นเพราะ Memory Controller ที่ซ่อนอยู่ในกระดองจะเป็นเกรดเดียวกับซีพียูระดับ Server จริงหรือไม่ แต่ CPU AMD ก็ยังหาแรมให้วิ่งแมทช์กับมันได้อย่างยากเย็นดีแท้ แรมที่วิ่งกับอินเทลได้บัส 1200 พอมาใช้กับ AMD อาจจะวิ่งได้แค่บัส 1000 แรมที่กด CL4 กับอินเทลได้นิ่มๆ ก็อาจใช้ไม่ได้กับ AMD หรือแรมบัส 1000 ที่ไฟ 1.9 พอมา AMD ก็ต้องเพิ่มเป็น 2.0 หรือ 2.1 ก็ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น สาวกอินเทลที่ย้ายค่ายมาเล่น AMD ก็ไม่ควรใช้สเปกแรมบนบรรทัดฐานเดิม ซึ่งชิพแรม DDR2 ที่วิ่งบัสสูงได้ดี ที่เห็นหลักๆ เลยก็ยังอยู่กับ ไมครอน ตระกูล D9 ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น GTC หรือ GMH นอกจากนี้ก็ยังมีเอลพิด้าบางวีค, Hynix บางตัว 

ในส่วนของแรม DDR3 เอเอ็มดีก็ยังไม่เว้น ที่เจอกันประจำคือ ซื้อแรมบัส 1600 มาแต่ไม่สามารถปรับให้วิ่งบัส 1600 ได้ หรือแรมวิ่งกับอินเทลบัส 2000 ได้ แต่ใช่ว่าจะวิ่งได้บน AMD แม้กระทั่ง 1600 ก็เหนียวแล้วครับ พูดกันตามประสาเราๆ ก็คือ “มันเลือกแรม” ครับ แต่สำหรับแรมบัส 1333 ลงไป ใช้งานทั่วไป ไม่มีปัญหาครับ หรือจะลากก็ได้แต่จะลากได้แค่ไหน...นั่นคือปัญหา ซึ่งเท่าที่ผมเจอมา แรม DDR3 วิ่งดีๆ ก็ยังตกอยู่กับชิพไมครอนเหมือนเคย ไม่ว่าจะเป็น D9JNM, D9GTS, D9GTR ส่วนที่ผมและอีกหลายคนที่ดันบัสได้เกิน 1600 จนถึง 1800 ได้นิ่มๆ ไฟต่ำ ก็คือ Crucial Value 1333MHz ชิพ D9KPT ครับ

ดังนั้นใครที่กำลังคิดจะ OC กับ AMD ก็ควรศึกษาข้อมูลให้ดี เมื่อเราได้เมนบอร์ด และแรม Performance สูงๆ แล้วจะสนุกกับการ OC สามารถรีดสมรรถนะ CPU แต่ละรุ่นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

สำคัญมาก : มีบอร์ดดี แรมแรง พร้อมแล้ว ก็ต้องพึ่ง “ดวง” หยิบ(ซื้อ)ซีพียู ข่าวร่ำลือ week เทพ เป็นเพียงแค่ข้อมูลอ้างอิงให้เรามีความ “เสี่ยง” ในการวัดดวงน้อยลง คนดวงดี หยิบซีพียูวีคห่วยแต่ OC แรงระเบิดก็มีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ครับ

Let’s Go!!!!!!!
เกริ่นมาซะยาวเลย ^^ เข้าเรื่องกันเลยครับ โดยชื่อเรียกของ Config ต่างๆ จะอ้างอิงกับบอร์ด 
ASUS M4A785TD V-EVO และ Gigabyte 790XT-UD4P นะครับ เพราะเป็นบอร์ดที่ผมเล่นมา ซึ่งอาซุสกับกิ๊กรุ่นอื่นๆ ก็จะใช้ชื่อเรียกที่เหมือนกันแทบทุกบอร์ดครับ

ปล.ผมขอข้ามรายละเอียด Bios ขั้นพื้นฐานเลยนะครับ

รูปหน้าไบออส ASUS M4A785TD V-EVO ในช่วงของการ OC







รูปหน้าไบออส Gigabyte 790XT-UD4P ในช่วงของการ OC


กด Delete เข้าหน้าไบออสมา การปรับเซ็ทหลักๆ จะอยู่ที่
1.บัสซีพียู
อาซุสจะเรียกกว่า CPU(หรือ CPU/NB) Reference Clock (Mhz)
กิ๊กกาไบต์เรียกว่า CPU Frequency(Mhz)
ความหมาย : ขออธิบายง่ายๆ เลยนะครับ บัสซีพียูก็เหมือนถนนที่ซีพียูใช้ติดต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น NB SB ดังนั้นถนนยิ่งกว้าง(บัสสูง)เท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ซีพียูมีช่องทางติดต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ได้มาก ส่งผลให้ระบบมีความลื่นไหล ไม่สะดุดมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ การปรับบัสไปเท่าไหร่ เมื่อรวมกับตัวคูณ ก็จะทำให้ซีพียูมีสัญญาณนาฬิกาสูงขึ้น เช่น X2 240 เดิมๆ มีบัส 200 รวมกับตัวคูณ 14 ก็จะได้สัญญาณนาฬิกาที่ 2800 Mhz ถ้าเราปรับบัสไปที่ 250 เมื่อรวมกับตัวคูณ 14 ก็จะได้ความเร็วสัญญาณนาฬิกาซีพียูที่ 3500 Mhz เป็นต้น
ปล.เรื่องบัสซีพียู มันก็ไม่ใช่ว่าจะส่งผลถึงความแรงเสมอไป ขึ้นอยู่กับสถาปัตยกรรมของแต่ละซีพียูด้วย ยกตัวอย่างเช่น 775 ของอินเทล บัสยิ่งสูงก็ยิ่งแรง แต่พอมา i7 บัสกลับดันได้ยาก และไม่ค่อยมีผลมาก ตัวที่ส่งผลกลับอยู่ที่ค่า QPI Link กับ NB Frequence แทน(เหมือน HT กับ NB Frequence ของ AMD) ดังนั้น เราต้องหมั่นศึกษาและทำความเข้าใจสถาปัตยกรรมใหม่ๆ ที่ออกมาด้วย ถึงจะจับจุด OC ได้แรงครับ



2.ตัวคูณซีพียู
อาซุสจะเรียกกว่า Processor Frequency Multiplier
กิ๊กกาไบต์เรียกว่า CPU Clock Ratio
ความหมาย : เป็นอัตราส่วนของสัญญาณนาฬิกาซีพียูที่ทำงานร่วมกับจำนวนของบัส เช่น ตัวคูณ 15 กับบัส 200 ได้สัญญาณนาฬิกาซีพียูเท่ากับ 3000Mhz ในอีกทางนึง ตัวคูณ 12 บัส 250 จะได้สัญญาณนาฬิกา 3000Mhz เท่ากัน แต่อย่างหลังได้บัสที่สูงกว่า การใช้งานย่อมแรงกว่า ลื่นไหลกว่า อีกอย่าง นึกขึ้นได้สดๆ ร้อนๆ ก็คือ ระหว่างการ OC บางครั้ง CPU ไม่ชอบบัส หรือตัวคูณที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ทำให้ปรับยังไงเทสยังไงก็ไม่ผ่านครับ แต่พอขยับเพิ่มหรือลด(บัส/ตัวคูณ) ก็สามารถวิ่งได้หน้าตาเฉยโดยไม่ต้องปรับไฟแต่อย่างใด เผลอๆ บางทีก็ลดได้ไฟอีก นี่แหละความ“ประหลาด” ที่เป็นสเน่ห์อย่างหนึ่งของการ OC ครับ อิอิกำ



3.ไฟเลี้ยงซีพียู
อาซุสจะเรียกกว่า CPU Over Voltage
กิ๊กกาไบต์เรียกว่า CPU Voltage Control
ความหมาย : ตรงตามตัวเลยครับ เป็นไฟสำหรับเลี้ยงซีพียู บางเมนบอร์ดจะมีโหมด AUTO ที่คอยเพิ่มไฟให้เองตามความต้องการของซีพียู แต่ไม่แม่นยำครับ บางที่บอร์ดก็จ่ายเกินไปเยอะจนน่ากลัวมาก ผลเสียนอกจากเปลืองไฟแล้ว ภาคจ่ายไฟยังทำงานหนักอีกด้วย เผลอๆ มันร้อนจนทนไม่ไหวก็ “แต๊ป” เอาครับ ซึ่งถ้ามัน “แต๊ป” แบบมีรอยไหม้ ชิพระเบิด ก็หมายถึงการเคลมไม่ได้ ต้องเสียงตังก์ซื้อใหม่อีก ยังไงเราก็ต้องลงมือปรับเองแน่นอนที่สุดครับ

มาถึงตรงนี้(อีกแล้ว) ก็คงมีหลายคนสงสัยอีกว่า “แล้วอย่างนี้ ปรับไฟแค่ไหนถึงปลอดภัย?” คำตอบคือ “มีหลายปัจจัยครับ” สำหรับ System ที่เอาไว้อัดเล่นอย่างเดียว มีระบบระบายความร้อนที่ดี 1.6-1.7 ก็เล่นกันได้สบายๆครับเพราะ “เทสแล้วจบ” ปิดเครื่องนอนหลับสบาย 

แต่สำหรับผู้ที่ OC ด้วยใช้งานด้วย ถ้าระบบระบายความร้อนดีๆ ผมว่าไม่ควรเกิน 1.55 ครับ จะได้ใช้นานๆ ไม่ต้องแกะบอร์ดแกะซีพียูไปเคลมบ่อยๆ

ยิ่งคนที่ชอบโหลดบิท หรือใช้งานหนักนานๆ หรือห้องร้อนไม่เปิดแอร์ ถ้าเอาความร้อนอยู่ ไม่ควรเกิน 1.50(โหลดบิทควรต่ำกว่า 1.4) อย่าลืมนะครับ ไฟสูงนอกจากซีพียูร้อนแล้ว ภาคจ่ายไฟ+NB+SB ก็ร้อนไม่แพ้กัน มัวทำให้ซีพียูเย็น แต่ไม่มองส่วนที่เหลือเลย อัดอยู่ในเคส ร้อนเป็นเตาอบก็“แต๊ป” ได้ง่ายๆ ครับ ถ้าสังเกตม๊อด หรือขาโหดเวลาโพสรูป นอกจากลอยบอร์ดอัดพัดลมแรงๆ ไปตามจุดต่างๆ แล้ว ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด “อัดแอร์” ซะเย็บเฉียบ เรื่องความร้อน ผมจะแยกไปอีกหัวข้อนึงนะครับ

แล้วเวลา OC จะเพิ่มไฟให้ CPU ยังไงดี?

ปกติแล้วผมจะดูค่าไฟเดิม(VID)ของซีพียูก่อนครับ เช่น เปิดเครื่องมา เข้าไบออสไปเช็คไฟที่หน้า HW Monitor ถ้าซีพียูมี VID 1.35 ผมก็จะเพิ่มไปก่อนเลยครับ 1.55 เผื่อไว้เลย(ดูความร้อนด้วยนะครับ) แล้วเพิ่มบัสเพิ่มตัวคูณ ดูบัสแรมไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่พอใจหรือตั้งเป้าไว้แล้วค่อยเทส ถ้ามันดับกลางอากาศ ก็เติมไฟ CPU ไปเรื่อยๆ ครับ หา อะไรนะ เง้อ...มีคำถามอีกแล้ว ^^”

ถามว่า ถ้าเราเอาความร้อนอยู่ ไม่เพิ่มสัก 1.6 หรือ 1.65 ไปเลยหล่ะ แล้วค่อยมาลดทีหลังเอา?

คืองี้ครับ ในซีพียูกองมหึมามันจะมีซีพียูที่ไม่ชอบไฟเยอะๆ ครับ หากเราไปตั้งไฟซีพียูไว้มากๆ มันจะ “ขี้เกียจ” ไม่ยอมวิ่ง เปิดไม่ติดเป็นนิจสินครับ การเพิ่มไฟจากค่า VID ไปสัก +0.2 จึงถือว่ากำลังดีครับสำหรับผมเท่าที่เคยมีปัญญาสัมผัส CPU มา แต่วิธีนี้ก็ไม่ใช่วิธีมาตรฐานแต่อย่างใดนะครับ บางคนเล่นไฟเดิมก่อนเลย เพื่อดูทิศทางซีพียูตัวนั้น หากลากได้ไกล นั่นหมายถึงอนาคตที่สดใส ลากไกล กินไฟน้อย แต่ซีพียูประเภทนี้มักจะมี “นิสัย” ขี้ร้อน ยกตัวอย่างเจ้า E8400 E0 ตัวเก่าของผม วิ่ง 4G ที่ 500*8 ไฟแค่ 1.30 เองครับ เทสผ่านหมด แต่ร้อนอิ๊บอ๋าย เอาน้ำลูบ Idel35 แต่ Full+80 ในพริบตา ขณะที่ E8400 E0 วีคเดียวกัน กินไฟ เล่นที่เท่ากันต้องมีไฟ 1.45 ถึงจะเอาอยู่...แต่ไม่ร้อน แต่ก็อีกนั่นแหละครับ ส่วนใหญ่จะนิยมไฟน้อยเป็นหลัก เพราะลากได้ไกลกว่าเกือบทุกตัวถ้าคุมความร้อนอยู่ เป็นต้น “ผิด” กับ AMD AM3 ที่ลากยังไงก็ไม่ค่อยร้อน(ไม่นับ 3-4 หัวนะครับ) แต่ดันมีนิสัย “ชอบเย็น” แทน

รูปโหมดปรับไฟซีพียูของอาซุส


รูปโหมดปรับไฟซีพียูกิ๊กกาไบท์


4.ไฟนอร์ทบริจ(NB)ซีพียู
อาซุสจะเรียกกว่า VDDNB Over Voltage
กิ๊กกาไบต์เรียกว่า CPU NB VID Control
ความหมาย : จุดนี้คือไฟสำหรับเลี้ยง Northbrige(NB) ในซีพียู มีหน้าที่เป็น “ป้าระเบียบรัตน์” คอยจัดระเบียบ รับส่งข้อมูล จากเมมโมรี่ไปสู่ Cache L1, L2 และ L3 ของแต่ละคอร์(หัว)ครับ ยิ่ง NB ซีพียู มีสัญญาณนาฬิกา หรือความถี่สูงมากขึ้นเท่าไหร่ มันจะต้องการไฟเลี้ยงที่มากขึ้นตามครับ ในอีกกรณีหนึ่งก็คือ NB Frequence เท่าเดิม แต่ได้ทดแรมให้วิ่งบัสสูงขึ้น มันก็จะทำให้ NB ต้องทำงานหนักขึ้น...แน่นอนครับ ต้องการไฟเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน หากไฟไม่พอ มันจะมีอาการฟ้องให้เราพอจับอาการได้ครับ ซึ่งตรงนี้ผมเจอบ่อยครับ เปลี่ยนแรมใหม่ลากไกล แต่ไฟที่เซ็ทยังเหมือนเดิม เลยเพิ่มไฟแรมอย่างเดียว ทีนี้ก็เริ่มออกทะเลเพราะเทสยังไงก็ไม่ผ่าน ก็เพราะลืมเพิ่มไฟให้ NB ในซีพียูนั่นเอง

gigabyte

asus


6.ความเร็วนอร์ทบริจ(NB)ซีพียู
อาซุสจะเรียกกว่า CPU/NB Frequency
กิ๊กกาไบต์เรียกว่า CPU Northbirdge Freq.
ความหมาย : นี่คือโหมดปรับทดความเร็วสัญญาณนาฬิกาของ NB ในซีพียูครับ ซึ่งใน M4A785TD กับ 790XT จะแสดงเป็นตัวคูณ XX กับบัสซีพียู เช่น X8 X9 X10 แต่ในบางเมนบอร์ด เช่น กิ๊ก 790GP ที่เป็น DDR2 จะแสดงเป็นความถี่ครับ เช่น 1.6Ghz(หาร 2 ก็จะเทียบได้กับตัวคูณ X8), 1.8Ghz(หาร 2 ก็จะเทียบได้กับตัวคูณ X9) และ 2.0Ghz(หาร 2 ก็จะเทียบได้กับตัวคูณ X10) 

การหาค่าความเร็วของ NB fre. ก็ให้นำค่าทดมาคูณกับบัสครับ เช่น เราปรับบัสเป็น 220 ทด NB fre ที่ X9 จะได้ความเร็ว 1980Mhz แต่ถ้าทดเป็น X10 ก็จะได้ความเร็ว 2200Mhz เป็นต้น นอกจากนี้ เมนบอร์ดบางรุ่นอย่างเช่นน้องกิ๊ก 790XT จะแสดงความเร็วที่เราทดไว้ให้เลย แต่ในบางบอร์ดก็ไม่มีให้ครับ ต้องหยิบเครื่องคิดเลขมากดเอา



5.ไฟนอร์ทบริจ(NB)เมนบอร์ด
อาซุสจะเรียกกว่า Chipset Over Volt
กิ๊กกาไบต์เรียกว่า Northbridge Volt Control
ความหมาย : ตรงตัวอีกเช่นกันครับ เป็นไฟสำหรับเลี้ยง NB บนเมนบอร์ด ซึ่งก็จะเป็นชิพเซ็ทต่างๆ ของ AMD เช่น 790FX 790X 790G 780G 785G หลายท่านอาจจะสงสัย(เหมือนผม)ว่า NB ในซีพียูก็มีแล้ว ทำไมต้องมี NB บนเมนบอร์ดอีก คือ NB บนเมนบอร์ดมันจะเป็นตัวควบคุมการ์ดจอทั้งออนบอร์ดและต่อแยก ซึ่งจะควบคุมโดยซีพียูผ่าน HT และ NB fre. อีกที ดังนั้น ในเวลาที่เราปรับ NB fre. สูงๆ +บัสแรมสูงๆ เจ้าชิพเซ็ท NB ก็ทำงานให้รวดเร็วตามเป็นเงา เราก็ต้องเพิ่มไฟให้มันด้วยครับ มากน้อยอยู่ที่องค์ประกอบที่ผมได้กล่าวไป
///////ขออนุญาตใช้รูปจากบทความของท่าน tor_za แห่ง OverClockZone ครับ//////

ไปดูรูปไดอะแกรมกันสักนิดจะได้เข้าใจง่ายขึ้นครับ^^”





6.ไฟเซ้าท์บริจ(SB)เมนบอร์ด
อาซุส M4A785TD V-EVO จะไม่มีให้ปรับ แต่เมนบอร์ดจะปรับเองที่ 1.2-1.35
กิ๊กกาไบต์เรียกว่า Southbridge Volt Control
ความหมาย : ไฟเลี้ยงเซ้าท์บริจครับ ปกติ SB จะควบคุมการทำงานบรรดาพอร์ทต่างๆ ทั้งหมด(ยกเว้น PCI-EX ของการ์ดจอ) เช่น SATA USB AUDIO PARALLE ฯลฯ ตามรูปไดอะแกรมเลยครับ ซึ่ง ปกติแล้ว ด้วยควาเร็วของ HDD และอุปกรณ์ต่างๆ มันก็ไม่ได้ทำให้ SB ทำงานหนักมากมายอะไรนะครับ จึงแทบไม่จำเป็นต้องเพิ่มไฟแต่อย่างใด ยกเว้น
-เรา OC ไปสูงปรี๊ด เช่นในอินเทล 775 ถ้าเราลากระดับ 5G บัสสูงกว่า 500 ขึ้นไป เจ้า SB จะออกอาการเป๋ ต้องเติมไฟให้มันสักนิด เท่าที่เคยเล่นมา +0.1 ก็เหลือแหล่แล้วครับ
-เราเปิดฟังก์ชั่น ACC สำหรับผู้ที่โชคดี เปิดหัว ระเบิด Cache ได้ เนื่องจาก SB 710 และ 750 มีฟังก์ชั่น ACC เวลาเรา OC จะทำให้ SB ต้องทำงานหนักขึ้น ย่อมต้องการไฟเพิ่มขึ้นเพื่อเสถียรภาพที่ดี เท่าที่เคยเล่นมา +0.1 ก็เหลือๆ แล้วครับ...แต่...วิธีนี้ไม่ได้ทำให้ซีพียูที่เปิดหัว ระเบิดแคช ได้ดีนะครับ ผมพูดถึงตอน OC เท่านั้น ถ้าเปิดหัวแล้วเข้าวินโดว์ไม่ได้ เรนเดอร์ไฟล์ไม่ได้(+ไม่ดี) โปรดทำใจได้ครับ

7.ความเร็ว HyperTransport
อาซุสจะเรียกกว่า HT Link Frequence
กิ๊กกาไบต์เรียกว่า HT Link Frequence
ความหมาย : เจ้า HyperTransport หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า HT-Link ในซีพียูจะคอยทำหน้าที่เป็นตัวประสาน รับส่งข้อมูลกับชิพเซ็ท NB SB ซึ่งอารมณ์ของมันก็เป็นแบบเดียวกับ NB Fre. ครับ ความเร็วสัญญาณสูง ก็เหมือนมีเลนให้เราวิ่งรถได้เยอะ ย่อมสะดวกรวดเร็วกว่าถนนเลนน้อยๆ การจราจรย่อมแออัดเป็นธรรมดา ซึ่งค่า HT-Link ในการ OC ยิ่งมากก็ยิ่งดีครับ แต่เวลาเทสมัน “เห็นผล” น้อยกว่าเมื่อเทียบกับ NB Fre. และที่สำคัญ เวลาอัด HT-Link สูงๆ มันจะเป็นตัวที่ทำให้ระบบเราไม่เสถียรอย่างร้ายกาจ “เพราะ” มันเป็นตัวควบคุม NB+SB โดยตรง หาก NB+SB ไม่สามารถวิ่งตาม HT-Link ได้ทัน เวลาเทสก็จะค้าง(ผมขอเรียกอาการนี้ว่า Freeze of Dead ^^)บ้าง บูทไม่ติดบ้าง



HT-Link มันไม่เหมือนกับ NB Fre. ที่ควบคุมแค่เมมโมรี่(แรม)ไปสู่ Cache L1, L2 และ L3 ของแต่ละคอร์(หัว)ครับ พูดง่ายๆ ก็คือ มันมีหน้าที่รับผิดชอบน้อยกว่า และติดต่องานกันในเฉพาะซีพียู ถ้าซีพียูตัวนั้นมีประสมรรถภาพเพียงพอ เช่น วิ่งบัส 300+NB Fre.3000 ได้ หน้าที่เราก็มีแค่จูนไฟกับ CL แรม ก็ได้แล้ว 

แต่ HT-Link กลับต้องดูแลทั้ง NB+SB หาก NB+SB มีความผิดพลาดจากการควบคุมอุปกรณ์ที่ตัวเองดูแลอยู่ ไหนจะการ์ดจอ USB HDD AUDIO PARARALL ฯลฯ ผลลัพท์นั่นก็คืออาการเอ๋อต่างๆ นาๆ ดับ ค้าง บูทไม่ติด...เอ๊ะ..เอ๊าะ..อ้อ..คำถามมาอีกแล้วครับ อิอิกำ

คำถามคือ NB+SB เป็นชิพเซ็ทของ AMD อยู่แล้วนี่นา ผู้ผลิตเมนบอร์ดก็ต้องซื้อมาใส่บอร์ดตัวเองอยู่แล้ว ทำไมถึงมีข้อแตกต่างกันหล่ะ?

คำตอบง่ายมาก “คุณภาพชิ้นส่วนและการออกแบบเมนบอร์ด” ครับ เป็นจุดหยิมต๊ก ชี้เป็นชี้ตาย ที่ทำให้ผู้ผลิตเมนบอร์ดสามารถออกแบบให้บอร์ดสามารถรีดประสิทธิภาพซีพียูกับชิพเซ็ทออกมาได้มาก หรือน้อยตามต้องการ ส่งผลให้เมนบอร์ดที่ใช้ชิพเดียวกันถูกแบ่งเป็นหลายระดับ หลายราคาครับ ในส่วนตัวผมแล้ว แบ่งเกรดเมนบอร์ดได้ 4 ระดับ
-Hi-End เห็นชื่อก็บ่งบอกถึงราคาครับ แพง ==” เจ้าบอร์ดไฮเอ็นด์มาพร้อมหน้าตาสวยงาม ออฟชั่นเพียบ พอร์ทต่างๆ ประเคนมาเต็มเหนี่ยว ลูกเล่นเยอะ เซฟค่าไบออสได้ ปรับค่าไฟได้ละเอียดยุ่บหยั่บ มากมาย แค่มองครั้งแรกก็ตาลาย OC ง่าย แต่ใช่กว่าบอร์ดแบบนี้จะมีประสิทธิภาพทุกรุ่นทุกยี่ห้อเสมอไป บางบอร์ดสุดไฮโซ ลากไกล แต่คะแนนเทสห่วยก็มีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ
-High Performance มันคือบอร์ดประสิทธิภาพ รีดคะแนนออกมาได้ดี ถึงจะแตกต่างกันไม่มาก ใช้งานแทบไม่แตกต่างจากบอร์ดทั่วไป แต่สำหรับคอ OC คะแนนต่างกันก็หมายถึง “เหนือกว่า” หรือ “เป็นรอง” เท่านั้น หลายคนคงได้เจอกรณีศึกษา บัสเท่ากัน Mhz ก็เท่ากัน แรมวิ่งเหมือนกัน แต่ทำไมเราปั่นคะแนนได้น้อยกว่า ถ้าไม่นับพวก “Tweak” วินโดว์ หรือ “หมดเม็ด” ปัจจัยที่แตกต่างก็คือ Performance ของเมนบอร์ดนี่แหละครับ ซึ่งเจ้าบอร์ด High Performance ส่วนใหญ่มักจะแพง เพราะอุปกรณ์คุณภาพสูง ไฟนิ่ง และ Lay-Out บอร์ดดี...แต่ก็มีบอร์ดประเภทแจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ ลืมตาดูโลกเพื่อพิฆาตอริราชศัตรู ในค่าตัวที่ถูกกว่า(มากน้อยก็ว่ากันไป) โดยทำการหั่นออฟชั่นหรูหราออก หน้าตากากๆ ไม่ค่อสวยนัก พอร์ทเชื่อมต่อน้อยนิดไปบ้าง เช่น ในยุค P965 ของอินเทลก็มี DFI Dark ผู้เกิดมาล้มพี่หมี Commando ที่มีราคาแพงกว่า แม้ลากบัสหรือ Mhz ได้สูงกว่าแต่ก็ไม่มาก แถม Performance กลับเป็นรอง, เจ้าอาซุสวนิลา P5B ในสายพันธุ์ P35 เป็นต้น
-Normal Performance เป็นบอร์ดระดับกลางธรรมดาๆ ออฟชั่นธรรมดา ไบออสปรับแต่งได้พอสมควร และมีประสิทธิภาพธรรมดาทั่วไป แต่จะเน้นขายลูกเล่น เช่น พอร์ทเยอะ, OC ได้ดีในระดับนึง, หน้าตาสวยงาม, ใช้คาปาซิเตอร์แบบโซลิดทั้งบอร์ด เป็นต้น
-Value Price ชื่อบอกอยู่แล้วว่าเป็นบอร์ดราคาประหยัด แต่ก็มีบอร์ดบางตัวที่สามารถ OC ได้ดีเช่น แต่มันจะมีข้อเสียแฝงอยู่ เช่น Performance ต่ำ หรือกลางๆ พอได้, ชุดมอสเฟสภาคจ่ายไฟคุณภาพตามราคา ไฟเลยแกว่งคุมยาก ปรับได้น้อย ไฟโดด ไฟดร็อปเยอะ บางทีด้วยเหตุผลิตทางการผลิต เจ้าบอร์ดบางรุ่นก็ใส่ของดีมาครับ แต่ผู้ผลิตจะบังคับ Performance ให้ลดลงด้วยการออกแบบ LayOut บอร์ดให้มีประสิทธิภาพต่ำ จุดที่เห็นได้ชัดสำหรับบอร์ด AMD คือค่า HT-Link ครับ ลากบัสสูงจริง NB Fre. ก็แรงได้ แต่ดัน HT-Link ไม่ไป หรือไปได้น้อย อย่างเช่น Asrock ทายาทเทพเจ้าซุสที่มักจะมีรุ่นลากไกลในราคาประหยัดอยู่เสมอ..อีกหนึ่งขวัญคนงบน้อย..ผมไม่ได้ว่าบอร์ดนี้ไม่ดีนะครับ เทียบ Performance เทียบความมันส์ในการลาก กับราคาค่าตัวระดับนี้ จะเอาอะไรกับมันอีก แทบไม่มีบอร์ดไหนให้ได้ครับ

8. ความกว้างของความถี่ HT-Link
อาซุสจะเรียกกว่า HT Link Width
กิ๊กกาไบต์เรียกว่า HT Link Width
ความหมาย : เป็นฟังก์ชั่นในการปรับความกว้าง(Bandwidth)ของความถี่ HT-Link ปกติเมนบอร์ดจะมีให้ปรับคือ AUTO, 8Bit และ 16Bit ซึ่งผมไม่ทราบเหมือนกันว่า ถ้าเราตั้ง AUTO มันจะวิ่งแบบไหน แต่ถ้าให้เดาคือมันจะปรับตามความเหมาะสมของช่วงเวลานั้นๆ เช่นความร้อนของซีพียู เมนบอร์ด ซึ่งเท่าที่ผมลองเทสมา การปรับ 16บิท ให้ Performance ที่สูงกว่า หากดูจากตาราง HyperTransport frequency specifications ข้างล่าง ก็ทำให้ผมคิดว่า ค่าที่แท้ของแบนวิธ HT-Link ต้องเอามาคูณ 2 เหมือน HT และ NB Fre. หรือเปล่า แต่ขอเดาว่าใช่เมื่อเทียบจากตารางครับ ยังไงผู้มีความรู้ในเรื่องก็ช่วยแนะนำด้วยนะครับ



9.ไฟ HT-Link
อาซุสจะเรียกกว่า HT Over Voltage
กิ๊กกาไบต์ 790XT ไม่มี แต่จะปรับให้เองอัตโนมัติ
ความหมาย : ก็เป็นไฟเลี้ยง HT-Link ในซีพียูแหละครับ ต้องปรับเพิ่มตามแบนวิธ และสัญญาณนาฬิกาที่สูงขึ้น ซึ่งเท่าที่เจอมา ผมยังไม่เคยใช้ถึง 1.3 ซักทีครับ เต็มที่กับซีพียูระเบิดหัวที่มักดูดไฟเก่งผิดธรรมชาติอยู่แล้วก็คือ 1.29 ครับ


10.ไฟเลี้ยงแรม
อาซุสจะเรียกกว่า MemoryOverVoltage
กิ๊กกาไบต์เรียกว่า DDR3(หรือDDR2 หรือDDR) Voltage Control
ความหมาย : เป็นไฟสำหรับป้อนให้แรมทำงานครับ ส่วนใครจะใช้มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้ง Mhz, บัสซีพียู บัสแรม นิสัยประจำตัวของชิพแรม ลักษณะของ PCB และค่า CL ต่างๆ สำหรับแรมแบบ DDR2 ในการอัดด้วยใช้งานด้วย ไม่ควรเกิน 2.1V ครับ แต่ถ้าอัดเอามันส์ในช่วงเวลาสั้นๆ มีพัดลมเป่าแรม อัดแอร์อากาศเย็นสบาย ก็เล่นกันได้ถึง 2.5-2.6 บางคนอัดเพลิน ลากยาว หรือดันบัสสูง CLแน่น จนแรมทนไม่ไหว มันก็จะ “เอ๋อ”บ้าง “แต๊ป” บ้างครับ ส่วน DDR3 ผมเองก็ไม่อยากให้เกิน 1.85 ครับ ที่เห็นเล่นๆ กันมา มีการระบายความร้อนที่พอเพียง 2.4 ก็เล่นได้เช่นกัน




11.Special Option
เป็นออฟชั่นการปรับค่าไฟที่หลากหลายสำหรับการ OC ให้ลากไกล และง่ายยิ่งขึ้น(ตาลายกว่าเดิม ^^”) อาจจะเป็นออฟชั่นที่เมนบอร์ดระดับกลางสูงมีเหมือนกัน แต่ดันมีชื่อเรียกไม่เหมือนกัน เช่น

-ฟังก์ชั่นปรับแรงดันไฟที่ป้อนให้ซีพียู
เมนบอร์ดอาซุส M4A785TD V-EVO + อีกหลายรุ่นจะเรียกว่า CPU VDDA Voltage 
เมนบอร์ดกิ๊กกาไบต์ 790FXT และอีกหลายรุ่นจะเรียกว่า CPU PLL Voltage Control
ความหมาย : ตรงนี้ต้องบอกก่อนเลยว่าผมก็ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน 100% หากท่านใดรู้ความหมายของมัน รบกวนชี้แนะผมด้วยครับ แต่เท่าที่หาข้อมูลดูจากเว๊ปนอก เจ้าไฟตัวนี้ จะเป็นไฟหลักที่ไฟ Vcore และไฟ CPU NB นำไปป้อนให้ CPU อีกที ทำให้ในจังหวะกระชากไฟ หรือ Full Load ของซีพียูมันจะช่วยให้ไฟ Vcore และไฟ CPU NB นิ่งขึ้น และลดอาการไฟดร็อป จนถึงเพิ่มมากกว่าค่าเดิมเล็กน้อยเพื่อป้องกันอาการไฟดร็อปในเวลาซีพียู Full Load โดย ค่าเดิมๆ ของมันจะอยู่ที่ 2.5V ฟังก์ชั่นนี้มีผลกับความเสถียรเวลา OC ไปสูงๆ หรือเจอ CPU ที่มีค่าพลังงาน TDP สูงมากๆ เช่น ซีพียู140W เป็นต้น





-ฟังก์ชั่นรักษาความสม่ำเสมอของ Vcore
เมนบอร์ดอาซุส M4A785TD V-EVO + อีกหลายรุ่นจะเรียกว่า LoadLine Calibration
เมนบอร์ดกิ๊กกาไบต์ และยี่ห้ออื่นๆ ยังไม่เคยเห็นครับ 
ความหมาย : ฟังก์ชั่นนี้เห็นบ่อยในเมนบอร์ด Intel หลายยี่ห้อครับ การปรับมีแค่ Enable กับ Disable เท่านั้น แต่ในบอร์ด AMD M4A785TD V-EVO ดันมี Auto กับให้เลือกเป็น % ปรับขั้นละ 3.33% โดยมีค่าเดิมอยู่ที่ 55% ตามความเข้าใจของผม ฟังก์ชั่นนี้ เป็นฟังก์ชั่นที่ควบคุมเจ้าไฟ Vcore อีกจุดหนึ่งเพื่อไม่ให้ Vcore ดร็อปเวลาซีพียูอยู่ในสถานการณ์ฟูลโหลด ใครใช้เมนบอร์ด M4A785TD V-EVO แล้วไฟดร็อปเวลาเทส เจ้าตัวนี้ช่วยได้ครับ ซึ่งซีพียูแต่ละรุ่นก็ต้องการค่า LoadLine Calibration ที่ไม่เท่ากันนะครับ มันจึงไม่มีค่าตายตัว ซึ่งเมนบอร์เจ้าอื่นที่ไม่มีปรับก็อาจจะมีฟังก์ชั่นเช่นกัน เพียงแต่มันปรับให้เองอัติโนมัติ



ยังมีฟังก์ชั่นพิเศษอีกมากมายครับ ซึ่งมักจะเป็นส่วนเสริมให้ระบบมีเสถียรภาพนิ่งขึ้นอย่างที่เราต้องการนอกเหนือจากไฟหลัก(ไฟซีพียู ไฟนอร์ทบริจซีพียู ไฟHT ไฟแรม ไฟ NB+SB) เท่าที่สังเกต ไฟเสริมพวกนี้มักจะนิยมใช้คำว่า “ชื่ออุปกรณ์” + “PLL VoltageVTT Voltage หรือVDDA Voltage” เช่น มีไฟซีพียูแล้ว แต่ก็ยังมี CPU PLL Voltage หรือ CPU VDDA Voltage เพิ่มเข้ามา เท่าที่ผมเจอมาก็มี PCIe PLL(VTT หรือVDDA) Voltage, Ram PLL(VTT หรือVDDA) Voltage เป็นต้นครับ หวังว่าคงไม่งงนะครับ





ก่อนเข้าสู่หัวข้อของการปรับแต่ง ผมขอ “ย้ำเตือน” อีกสักครั้งว่า

การ OverClock คือ การรีดประสิทธิภาพ CPU, Mainboard, RAM และ การ์ดจอ ที่เรามีอยู่ให้มีสมรรถนะสูงขึ้น ยิ่งเรารีดมันออกมามากเท่าไหร่ นั่นหมายถึง “ไฟ” และ “ความร้อน” ที่เพิ่มขึ้น จึงเสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายแก่ทั้งระบบ ยิ่ง OverClock “สูง” มากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่ง “เสี่ยง”มากขึ้นเป็นเงาตามตัว

มี CPU ดี มีแรมดี แต่ใช้เมนบอร์ดที่ไม่ทนต่อการ OverClock “สูงๆ” มันจะทำให้เมนบอร์ดออกอาการ 3 เกลออย่างรวดเร็ว คือ “เอ๋อ-ไหม้-แต๊ป” ผมไม่สนว่าบอร์ดราคาประหยัดจะให้ไฟมากมายสะใจแค่ไหน ผมสนแค่ว่าบอร์ดราคาประหยัดนั้น มี “อุปกรณ์” คุณภาพดีที่สามารถรองรับการ OverClock ได้เท่านั้น จะทนได้มากน้อยแค่ไหนก็ควรปรับแต่งให้เหมาะสมเพื่อการใช้งานที่ยาวนาน ไม่ต้องส่งเครมกันบ่อยๆ

ลองนึกดูง่ายๆ นะครับ หากบอร์ดรุ่นเล็กราคาประหยัด 1-2 พันกว่าบาท สามารถ OverClock ได้เท่ากับบอร์ด 7-8 พันบาท ความทนทานก็เท่ากัน แล้วผู้ผลิตเค้าจะทำเมนบอร์ดแพงๆ ออกมาทำไม ซึ่งเมนบอร์ดราคาแพง นอกจากจะใช้ชิ้นส่วนคุณภาพสูงทีทนความร้อน ทนไฟ มีเสถียรภาพที่ดี และ Performance สูงแล้ว ลูกเล่นพวกความสวยงาม พอร์ทเชื่อมต่อ หรือค่าไฟละเอียด เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ซื้อเกิดความเชื่อมั่นอย่างหนึ่งเท่านั้น

เครดิต http://www.overclockzone.com/forums/showthread.php/560859-%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3-OverClock

1 ความคิดเห็น: